ประโยชน์ของการเข้าแคมป์

77_resize_JPG

 

ส่วนใหญ่การเลือกแคมป์ก็อยากให้เด็กได้พัฒนาทักษะที่เป็นหัวใจหลักของแคมป์นั้น เช่น แคมป์ภาษา แคมป์ศิลปะ แคมป์กีฬา แคมป์พัฒนาบุคลิกภาพ แต่นอกเหนือจากทักษะของแคมป์นั้นแล้ว เด็กยังได้พัฒนาทักษะในการดำรงชีวิตอีกด้วย เราลองมาดูกันว่าเด็กๆ จะได้พัฒนาทักษะอื่นๆ ในด้านใดบ้าง

  1. ทักษะการเข้าสังคม

เด็กๆ จะได้เรียนรู้การเข้าสังคมกับเพื่อนๆ ที่มาจากต่างพื้นฐานครอบครัว แต่ละคนจะได้มาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ยิ่งถ้าเป็นลูกคนเดียวด้วยแล้ว ทักษะด้านนี้สำคัญสำหรับการดำรงชีวิต เด็กบางคนถูกฝึกมาให้เป็นผู้นำอาจต้องมาเรียนรู้เพื่อปรับตัวเป็นผู้ตามบ้าง ส่วนบางคนที่บ้านไม่เคยให้ออกความคิดเห็น แต่ที่แคมป์ทุกคนเสมอภาคกัน ทีมงานแคมป์ที่ดีก็จะให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและทำกิจกรรมร่วมกัน

  1. เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง

แคมป์ที่จัดในต่างประเทศ เด็กเองจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง หรือแม่แต่แคมป์ในประเทศวัฒนธรรมของแต่ละภาคแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการเรียนรู้  ผู้ปกครองบางท่านตั้งเป้าหมายให้ลูกต้องดูแลกิจการกับผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมหรือต่างชาติต่างภาษา การเรียนรู้วัฒนธรรมเหล่านี้จะมีประโยชน์กับเด็กมากในอนาคต เพราะทุกชาติทุกภาษาคิดต่างกัน จะลดช่องว่างปัญหาในการทำงานไปได้พอสมควร

  1. ทักษะการอยู่ได้ด้วยตัวเอง

พ่อแม่บางท่านไม่เคยให้ลูกได้หยิบจับทำอะไรด้วยตัวเอง ผู้ปกครองสมัยนี้อยากชดเชยเวลาที่มีน้อยให้กับลูกโดยการตามใจในหลายๆ อย่าง และลูกก็ไม่เคยทำอะไรได้ด้วยตัวเอง การมาเข้าสังคมได้เห็นเพื่อนๆ ที่พึ่งตัวเองได้ จะทำให้เด็กอยากเลียนแบบเพื่อนและอยากทำอะไรหลายๆ อย่างได้ด้วยตัวเอง  บางแห่งฝึกให้เด็กหุงหาข้าวปลาอาหาร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กชอบมาก เพราะหลายคนไม่เคยทำมาก่อน พวกเขาได้เรียนรู้และเมื่อออกไปจากแคมป์ก็ได้ฝึกทักษะนี้เพิ่มเติมต่อยอดออกไป

  1. ทักษะกล้าแสดงออก

แคมป์บางประเภทเน้นเรื่องนี้โดยเฉพาะ อาจเป็นแคมป์ดนตรี ร้องเพลง การแสดง นักพูด ฯลฯ จะฝึกให้เด็กได้ขึ้นเวที กล้าพูดกล้าแสดงออกต่อหน้าผู้คนมากกมาย เด็กสมัยนี้เก่งขึ้นเยอะ ไม่ประหม่าหรือตื่นเวทีเหมือนคนรุ่นก่อน อาจเป็นเพราะสื่อที่มีรายการประเภทนี้เยอะ เด็กได้เห็นเพื่อนในรุ่นเดียวกันทำได้ เขาก็เชื่อว่าตัวเองก็ทำได้เช่นเดียวกัน จึงกล้าแสดงออกมากขึ้น แคมป์ประเภทนี้ก็เหมาะกับเด็กขี้อายได้ฝึกทักษะด้านนี้บ้าง บางทีผู้ปกครองอาจได้เห็นความสามารถบางอย่างอีกด้านที่เราไม่คิดว่าน้องจะทำได้ก็ได้

10 โรคร้ายที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต รวมทั้ง 10 โรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย

100

โรคร้ายเป็นภัยเงียบที่แฝงมากับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ แม้เราจะรู้จักโรคเหล่านี้มาบ้าง แต่วันนี้มาเราอัพเดทข้อมูลกันดีกว่าค่ะ เพื่อจะได้รู้เท่าทันและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มะเร็งครองแชมป์มัจจุราช

โรคมะเร็งหากเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยเฉพาะรายที่พบในระยะลุกลาม ในประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันมา 5 ปี มีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 50,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 70,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 6 อันดับแรกในปี 2547 ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งในช่องปาก โดยมะเร็งที่ผู้ชายเป็นกันมากอันดับ 1 ได้แก่ มะเร็งตับ รองลงมาคือ มะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนมะเร็งที่พบในผู้หญิงตามลำดับคือมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ

แอลกอฮอล์ชนวนโรคกายและโรคใจ

อย่างที่ทราบกันดีว่า แอลกอฮอล์ เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายมากมาย เช่นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ ตับอ่อนอักเสบ โรคกระเพาะและกระเพาะรั่ว ภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มักเป็นเรื้อรังและทำให้ผู้เจ็บป่วยทุกข์ทรมาน ทั้งยังก่อเกิดภาวะแทรกซ้อนในโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ)

ไขมันในเลือดสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ

แม้แต่โรคทางจิตก็มีสาเหตุจากแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน ต้นเหตุการป่วยทางจิต 1 ใน 3 มาจากการติดเหล้า และพบว่าในกลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 90% เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือใช้แอลกอฮอล์ หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน โดยผู้ป่วยทางจิตจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าผู้ป่วยทางกายประมาณ 3 เท่าตัว โดยเฉพาะคนติดเหล้ามากๆ จะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพหลอน หูแว่ว หลงผิด หวาดระแวง และคลุ้มคลั่ง

วัณโรค ภัยในอากาศที่กำลังกลับมา

ปอดอักเสบ วัณโรค โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นกลุ่มโรคเดียวกัน แต่ที่กำลังต้องจับตาเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือวัณโรค ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า มายโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลสิส (Mycobacterium tuberculosis) ตอนนี้กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น จากรายงานขององค์การอนามัยโลกล่าสุดในปี 2549 ระบุว่าพบประชากรโลก 1 ใน 3 หรือประมาณ 2,000 ล้านคนติดเชื้อวัณโรค และมีผู้ป่วย 15 ล้านคน สำหรับคนไทยคาดว่าราว 20 ล้านคนมีเชื้อวัณโรคในตัว พร้อมกำเริบหากสุขภาพทรุดโทรม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด หรือติดเชื้อเอดส์ ผู้ติดเชื้อวัณโรคเหล่านี้อาจป่วยได้ถึงปีละ 1 แสนคน

 

ประเทศไทยมีปัญหาวัณโรคอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลกและถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 6 รองจากมะเร็ง โรคหัวใจ อุบัติเหตุ เอดส์ ไข้เลือดออก ในปี 2549 ตรวจพบผู้ป่วยวัณโรค 58,639 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่ตรวจพบเชื้อในเสมหะ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อจากการไอจามติดต่อสู่คนรอบข้างได้ ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-44 ปี

โรคร้ายที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตนั้น มีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังที่คนไทยประสบ โรคเรื้อรังเป็นโรคที่รัฐบาลเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก และก่อให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาอีกมากมาย อย่างความดันสูง การรักษาก็ต้องกินยาตลอด โรคเบาหวาน บางคนไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่เคยสังเกต ไม่ตรวจโรคเลย แล้วเมื่อมีอาการเรื้อรัง ก็จะทำให้ไตอักเสบ หรือเกิดอาการไตวายได้

10 อันดับโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย มีดังนี้

– โรคหัวใจและหลอดเลือด

– โรคของต่อมไร้ท่อ (โรคกลุ่มเบาหวาน ไทรอยด์ ต่อมหมวกไต)

– โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น

– โรคระบบทางเดินอาหาร

– โรคระบบทางเดินหายใจ

– โรคภูมิแพ้

– โรคระบบประสาทจิตเวช

– โรคระบบทางเดินปัสสาวะ

– โรคของปาก หู คอ จมูก

– โรคผิวหนัง

6 วิธีพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษให้มีประสิทธิภาพ

mbhg97hh-1397612399

วิธีที่ 1 ฝึกอ่านอย่างละเอียดพร้อมกับจดโน้ตไปด้วย

อ่านอย่างละเอียดยังไง? อาจเริ่มจากการขีดเส้นใต้ หรือทำไฮไลท์คำต่างๆ เพื่อหาคำที่ไม่เข้าใจ หรือคำที่เป็นใจความสำคัญของเรื่องที่อ่าน หาคีย์เวิร์ด (Keyword) คำสำคัญในเรื่อง หรือแม้แต่การตั้งคำถามเพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ตัวเองพยายามทำความเข้าใจเรื่องที่อ่านมากขึ้น จะได้มีแรงผลักดัน สุดท้ายหลังจากอ่านจบลองเขียนสรุปเรื่องทั้งหมดดูซิ ว่าคนเขียนพูดถึงเรื่องอะไร การเขียนสรุปเป็นวิธีการตรวจสอบที่ดีวิธีหนึ่งว่าเราเข้าใจเรื่องที่อ่านจริงๆหรือไม่

วิธีที่ 2 เพิ่มระดับความเร็วในการอ่าน

โดยเฉลี่ยแล้วคนเราจะใช้เวลาอ่าน 240 – 300 คำในหนึ่งนาที โดยคนส่วนใหญ่จะอ่านโดยมองเป็นคำๆไป ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่าน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเพิ่มความเร็วในการอ่านแบบในหนึ่งนาทีต้องอ่านจบสองหน้านะคะ เพราะนั่นก็จะทำให้แค่อ่านเร็วขึ้น แต่ไม่สามารถเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ แต่ให้เปลี่ยนเป็นในการจ้องมองแต่ละครั้งพยายามมองให้ได้หลายๆคำๆ เก็บข้อมูลหลายๆคำไว้ อย่างเช่น คนส่วนใหญ่จะอ่านโดยสายตาของพวกเขาจะมองแค่คำๆเดียว เราก็แค่เปลี่ยนจากการมองแค่คำเดียวเป็นมองเป็นเซต เซตหนึ่งอาจมีซักสามสี่คำว่าไป ทีนี้การอ่านของเราก็จะเร็วขึ้น และยังคงความเข้าใจในเนื้อหาได้ดีอีกด้วย

วิธีที่ 3  อ่านมากกว่าหนึ่งครั้ง

ทักษะการอ่านเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมค่ะ ถ้าเราเป็นเพียงคนเริ่มต้นในการอ่านภาษาอังกฤษ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถเข้าใจได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่าน ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือทิ้งไว้หลายๆวัน หรืออาจจะเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน แล้วจึงกลับมาอ่านใหม่ จะสังเกตอย่างเห็นได้ชัดเลยว่าเราเข้าใจเรื่องที่อ่านไปมากขึ้น อาจเพราะการสั่งสมทางภาษาอังกฤษในด้านต่างๆที่มากขึ้นในช่วงเวลาที่ทิ้งไว้ บวกกับสมองก็ได้พยายามประมวลเรื่องราวทั้งหมดที่เคยเห็นไปแล้ว ทำให้หลังจากทิ้งไว้ระยะหนึ่ง เราจะรู้สึกเข้าใจเรื่องที่เคยอ่านไปแล้วนั้นได้มากยิ่งขึ้น

วิธีที่ 4 ลองอภิปรายสิ่งที่อ่านกับคนอื่นๆ

เวลาเราอ่านเรื่องอะไรการได้คุยกับคนอื่นๆที่อ่านเรื่องเดียวกันถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความเพลิดเพลินนะคะ ในขณะเดียวกันมันก็ช่วยเสริมสร้างทักษะการอ่านของเราโดยไม่รู้ตัว เพราะต้องพยายามทำความเข้าใจในรายละเอียดเรื่องราวต่างๆของสิ่งที่อ่านเพื่อนำไปพูดคุยกับคนอื่นๆได้ เราเลยจำเป็นต้องพยายามอ่านให้เข้าใจ หรือต่อให้อ่านไม่เข้าใจเราก็สามารถไปถามคนที่อ่านเรื่องเดียวกัน แม้ว่าจะอ่านเรื่องๆเดียวกันสิบคนแต่ไม่มีวันที่ทุกคนจะมีความคิดเห็นเหมือนกันหรอกค่ะ เราจะได้แนวคิดและเข้าใจเรื่องที่อ่านมากขึ้นผ่านหลายๆมุมมอง

วิธีที่ 5 ใช้การจดบันทึกเพื่อช่วย

ยิ่งไม่รู้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องจดมากเท่านั้น เพื่อเตือนความจำทั้งศัพท์ที่ไม่รู้ เนื้อเรื่องโดยรวม ทำให้เราจดจ่อกับเรื่องที่อ่าน การจดช่วยให้เรามีความเข้าใจเรื่องที่อ่านมากขึ้น และยังเป็นการช่วยจดบันทึกด้วยว่าได้อ่านเรื่องอะไรไปแล้ว เรื่องราวเป็นอย่างไร มีศัพท์อะไรที่เกี่ยวข้องปรากฏในเรื่องบ้าง ทั้งศัพท์ที่ไม่เคยเห็น และคำไหนเป็น Keyword ของเรื่อง การจดบันทึกจะเป็นการช่วยย้ำเรื่องที่เราอ่านอีกครั้งให้ไม่ได้อ่านแค่ผ่านตา แต่อ่านแล้วสามารถจดจำได้ด้วย ทีนี้พอกลับมาอ่านบันทึกใหม่เราก็จะนึกภาพเรื่องที่อ่านออกเป็นฉากๆ ทั้งเรื่อง ศัพท์ ที่อาจสามารถนำเอาไปใช้ได้ในการเขียนอีกด้วยนะคะ

วิธีที่ 6 มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน

การอ่านไปเรื่อยๆอย่างไร้จุดมุ่งหมาย เราก็จะอ่านไปงั้นๆ ไม่มีการพัฒนาอะไร แต่ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากพัฒนาการอ่านถึงระดับไหน ในกี่เดือน มันก็จะเป็นกรอบให้เราได้เดินตาม ช่วยให้มีวินัยในการฝึกอ่านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มความเร็วในการอ่านขึ้นในสามเดือน หรือ ทุกครั้งที่อ่านต้องมีการจดบันทึกเรื่องย่อ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การพัฒนาทักษะการอ่านของเราเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้ามีเป้าหมายแล้วเราทำได้ดังเป้าที่วางไว้มันก็เป็นเหมือนกำลังใจว่าในที่สุดเราก็ทำได้สำเร็จแล้วอย่างที่วางไว้นะคะ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงวิธีการง่ายๆที่อยากให้ทุกคนได้ลองไปฝึกกัน บางคนอาจจะมีหลากหลายวิธีที่ช่วยเพิ่มทักษะการอ่านให้ดียิ่งขึ้น ก็ลองเอามาแชร์ให้พวกเราและคนอื่นๆดูบ้างนะคะ

การพัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตจะต้องมีการพัฒนาในมิติต่างๆ

3ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเหนือความคาดหมาย จนทำให้มนุษย์เราต้องมาปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตให้สอดคล้อง และรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ จะต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันภายใต้ความแตกต่างกันทั้ง อายุ, รายได้, ระดับการศึกษา, รสนิยมและเป้าหมายในการดำเนินชีวิตโดยบุคคลเหล่านี้ ย่อมมีความต้องการ มีอำนาจในการซื้อ และความพึงพอใจที่หลากหลาย ซึ่งพื้นฐานในความต้องการและพฤติกรรมของมนุษย์นั้นจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในเรื่องของ ค่านิยม, การรับรู้, ความพอใจ และพฤติกรรมผ่านสถาบันครอบครัว, เพื่อน และสังคม หรือบุคคลอื่นๆ ที่มีอิทธิพล โดยมีวัฒนธรรมแทรกซึมอยู่ในการดำเนินชีวิตของบุคคลในแต่ละวัน

วัฒนธรรมของบุคคลจะเป็นตัวพิจารณาถึงการบริโภคและการใช้บริการต่างๆ ทำให้มนุษย์ต้องศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อโลก-ทันคน โดยเริ่มจากการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างความสามารถของตัวเองให้มีมากขึ้นมนุษย์เรามีความต้องการที่จะให้ตนเองเจริญก้าวหน้า ดังนั้น  ทุกคนจึงต้องพยายามพัฒนาตนเองเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมลภาวะที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการดำเนินชีวิต การเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม ทำให้มนุษย์มีรสนิยมสูงขึ้น ปรารถนาสิ่งที่ดีขึ้นหรือดีที่สุด มีความสามารถที่จะทำตัวเองให้เข้ากับบุคคลอื่นให้ได้และเป็นที่รักใคร่ชอบพอแก่ทุก ๆ คน การพัฒนาตนเอง เป็นทั้งการพัฒนาความรู้, ทักษะ และพฤติกรรม ไปสู่การพัฒนาทัศนคติ แรงจูงใจ และอุปนิสัยเพื่อค้นหาตนเอง เพิ่มทักษะ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การพัฒนาตนเองอาจเป็นการพัฒนาที่จิตใจของตนเอง หรือพัฒนาไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ทำให้มีคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามที่ใจปรารถนา

การพัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต จะต้องมีการพัฒนาในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านร่างกาย ได้แก่ การให้ความสำคัญกับสุขภาพ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอบริโภคอาหารอย่างถูกสุขลักษณะเป็นการการพัฒนาให้ร่างกายมีความแข็งแรง สมส่วนและไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านอารมณ์ ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาพจิตใจที่ดีรู้จักควบคุมอารมณ์โดยการพัฒนาทางด้านจิตใจด้วยการให้ทาน การทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ การเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการ การฝึกสมาธิ การผ่อนคลายด้วยการฟังเพลง การพักผ่อน การท่องเที่ยว เป็นต้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านสังคม เป็นการสร้างการยอมรับและยกย่องจากสังคม ได้แก่ การเข้าร่วมกิจกรรมกับสังคม หรือหน่วยงานต่างๆ ใช้เวลาว่างบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชุมชนให้ความร่วมมือกับสังคมในด้านต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตนโดยยึดหลักของกฎหมายและคุณธรรม จริยธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านสติปัญญา เป็นการเพิ่มทักษะทางด้านความรู้ให้กับตนเอง ได้แก่ การอ่านหนังสื่อ การเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ด้านต่างๆ การศึกษาข้อมูลสารสนเทศจากสื่อต่างๆ การสังเกตและติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ฯลฯ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลจะต้องเริ่มต้นด้วยตัวเองเปิดใจยอมรับกับการพัฒนาตนเองพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องมีความพร้อมสำหรับการศึกษาเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงแล้วจะทำให้บุคคลนั้นสามารถใช้ชีวิตร่วมกันกับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างมีความสุข

การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสมนั้นเป็นการขยายขอบเขตของการเรียนรู้มากขึ้น

1

เทคโนโลยีกับการใช้ชีวิตประจำวัน ในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วทำให้ชีวิตของมนุษย์ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการใช้ชีวิตประจำวันอยู่เสมอ การใช้ชีวิตของคนเราในปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่เริ่มตื่นนอน เพราะในการตื่นนอนก็จะต้องใช้นาฬิกาปลุกหรือมือถือตั้งปลุก มาถึงในเรื่องการรับประทานอาหารก็ต้องใช้ไมโครเวฟในการทำอาหาร ไม่ว่าจะซักผ้าหรือทำความสะอาดบ้าน หรือทำอะไรก็ตามมนุษย์เราก็มักจะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและพึ่งพิงเทคโนโลยีอยู่เสมอ การใช้เทคโนโลยีของมนุษย์ที่เห็นได้ชัดเจนก็คงจะหนีไม่พ้นการใช้เทคโนโลยี สารสนเทศในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันโดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือ ในยุคนี้คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่าโทรศัพท์มือถือไม่มีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ การใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการทำงาน การหาข้อมูลและความบันเทิง การรับ-ส่ง E-mail การสนทนาออนไลน์ การเล่นเกมส์ออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการรับข้อมูลข่าวสารผ่านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตก็สามารถ อำนวยความสะดวกในเรื่องการติดต่อสื่อสารระหว่างกันของมนุษย์ให้เป็นเรื่องที่ง่ายดายขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดเวลาไหนเราก็จะสามารถที่จะหาข้อมูลและข่าวสารที่เกิดขึ้น ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างทันท่วงที เทคโนโลยีก่อประโยชน์ แก่ระบบการศึกษามากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษาสามารถเร่งอัตราการเรียนรู้ให้เร็วขึ้น ลดภาระทางด้านการบริหารของครูและยังทำหน้าที่แทนครูในการถ่ายทอดเรื่องราว หรือข่าวสารประจำวันต่าง ๆ

การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสมนั้นเป็นการขยายขอบเขตของการเรียนรู้ออก ไปได้อย่างกว้าง ระบบการสื่อสารในปัจจุบันได้ช่วยเพิ่มความสามารถให้กับคนเรา ดังนั้นสื่อการสอนในยุคใหม่นี้จึงสามารถจำลองสถานการณ์จริง ช่วยย่นระยะทางและเหตุการณ์ที่อยู่คนซีกโลกมาสู่นักเรียนได้ ทำให้การเรียนเป็นไปอย่างฉับพลันยิ่งขึ้น เทคโนโลยีการสอนเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างที่อยู่ภาย นอกโรงเรียนและโลกที่อยู่ภายในโรงเรียน ทำให้เกิดความเสมอภาคของการศึกษามากขึ้น และทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ทุกหนแห่ง เทคโนโลยีพร้อมที่จะหยิบยื่นความรู้ให้แก่ทุกคนเสมอ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตก็ยังถูกนำมาใช้ในเรื่องการค้าและพาณิชย์ด้วยเช่นกัน จะ เห็นได้จากการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในแต่ละวันล้วนต้องใช้และพึ่งพา เทคโนโลยีตลอดเวลา ไม่ว่าจะดำเนินกิจกรรมใด ๆ ก็ตามก็มักจะมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง และเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ก็ยังสามารถที่จะเชื่อมต่อกันได้จึงทำให้เราสามารถที่จะติดต่อกับบุคคลอื่น ๆ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา อย่างไรก็ตามในการใช้เทคโนโลยีนั้นเราก็ควรใช้เทคโนโลยีในทางที่ก่อให้เกิด ประโยชน์แก่ตัวเรามากที่สุด ไม่ควรใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด และในบางครั้งมนุษย์เราก็ควรหันมาทำอะไรด้วยตนเองโดยไม่พึ่งพิงเทคโนโลยี บ้างเพื่อให้เราได้รู้จักใช้สมองและร่างกายของเราฝึกทำอะไรด้วยตนเองก่อนที่ มนุษย์เราจะต้องตกเป็นทาสของเทคโนโลยี

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาทักษะทางการศึกษา

เทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้สำหรับการสอนเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่าง ทำให้การเรียนการสอนด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย ห้องเรียนสมัยใหม่ มีอุปกรณ์วิดีโอโปรเจคเตอร์ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ มีระบบการอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบต่างๆ รูปแบบของสื่อการศึกษาที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน ก็มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำมาใช้ เช่น มัลติมีเดีย อิเล็กทรอนิกส์ยุค วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ ระบบวิดีโอออนดีมานด์ ไฮเปอร์เท็กซ์ คอมพิวเตอร์ และระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

– คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นการนำเอาเทคโนโลยีรวมกับการออกแบบโปรแกรมการสอนมาใช้ช่วยสอน ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่าบทเรียน ซีเอไอ ย่อมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Computer-Assisted Instruction หรือเรียกย่อๆ ว่า ซีเอไอ (CAI) การจัดโปรแกรมการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในปัจจุบันมักอยู่ในรูปของสื่อประสม (Multimedia) หมายถึงนำเสนอได้ทั้งภาพ ข้อความ เสียง ภาพเคลื่อนไหวฯลฯ โปรแกรมช่วยสอนนี้เหมาะกับการศึกษาด้วยตนเอง และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับบทเรียนได้ตลอด จนมีผลป้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนรู้ บทเรียนได้อย่างถูกต้อง และเข้าใจในเนื้อหาวิชาของบทเรียนนั้นๆ ลักษณะคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจึงเป็นบทเรียนที่ช่วยการเรียนการสอน และมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยจัดบทเรียนให้เป็นระบบและเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน โดยมีลักษณะสำคัญๆ ดังนี้
1. เริ่มจากสิ่งที่รู้ไปสู่สิ่งที่ไม่รู้ จัดเนื้อหาเรียงไปตามลำดับจากง่ายไปสู่ยาก
2. การเพิ่มเนื้อหาให้กับผู้เรียนต้องค่อยๆ เพิ่มทีละน้อย และมีสาระใหม่ไม่มากนักนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างเข้าใจ
3. แต่ละเนื้อหาต้องมีการแนะนำความรู้ใหม่เพียงอย่างเดียวไม่ให้ที่ละมากๆ จนทำให้ผู้เรียนสับสน
4. ในระหว่างเรียนต้องให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับบทเรียน เช่น มีคำถามมีการตอบ มีทำแบบฝึกหัด แบบทดสอบ ซึ่งทำให้ผู้เรียนสนใจอยู่กับการเรียนไม่น่าเบื่อหน่าย
5. การตอบคำถามที่ผิด ต้องมีคำแนะนำหรือทบทวนบทเรียนเก่าอีกครั้ง หรือมีการเฉลย ซึ่งเป็นการเพิ่ม เนื้อหาไปด้วย ถ้าเป็นคำตอบที่ถูกผู้เรียนได้รับคำชมเชย และได้เรียนบทเรียนต่อไปที่ก้าวหน้าขึ้น
6. ในการเสนอบทเรียนต้องมีการสรุปท้ายบทเรียนแต่ละบทเรียนช่วยให้เกิดการวัดผลได้ด้วยตนเอง
7. ทุกบทเรียนต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ให้ชัดเจน ซึ่งช่วยให้แบ่งเนื้อหาตามลำดับได้ดี

ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
การนำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยในการสอนมีประโยชน์หลายประการดังนี้
1. ทำให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนมากขึ้น
2. ทำให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้หลายแบบตามความถนัดของแต่ละบุคคล
3. ทำให้ไม่เปลืองสมองในการท่องจำสิ่งที่ไม่ควรจะต้องจำ ใช้สมองในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจแทน
4. ทำให้สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนได้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
5. ทำให้ผู้เรียนมีอิสระภาพในการเรียน ไม่ต้องคอยครู อาจารย์ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลาที่ต้องการ
6. ทำให้ผู้เรียนสามารถสรุปหลักการ เนื้อหา สาระของบทเรียนแต่ละบทเรียนได้

การพัฒนาตนเองเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อมีความรู้ความสามารถดีขึ้น

3

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน แม้การเปลี่ยนแปลง จำเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และการเปลี่ยนแปลงเองก็ย่อมส่งผลกระทบในทางใดทางหนึ่ง ในระยะสั้นหรือระยะยาวหรือไม่ช้าก็เร็วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่การเปลี่ยนแปลงนำพ่วงติดมาด้วยก็คือ สัญญาณเตือนเพื่อให้บุคลากรในองค์การต้องเร่งปรับตัวบางประการ อันได้แก่ ปรับใจ โดยต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความไม่มั่นคงในอาชีพข้าราชการ ซึ่งคนทำงานภาคเอกชนได้ประสบมาแล้วในช่วงภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจหมายความว่า บุคลากรในองค์การควรเตรียมพร้อมสำหรับการออกจากงาน การโยกย้ายไปประจำหน่วยงานอื่น การเปลี่ยนตำแหน่ง การทำงานโดยมีเป้าหมายผลงาน การปรับให้เป็นข้าราชการกึ่งประจำ หรือการทำงานในรูปของสัญญาและการทำงานบางส่วนของเวลา ซึ่งล้วนส่งผลกระทบถึงรายได้ประจำที่เคยได้รับทั้งสิ้น ปรับตัว การทำงานยุคใหม่ต้องการความรู้ความสามารถที่แตกต่างกันไปจากเดิมคือต้องมีความรู้และทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม ข่าวสารและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลิกภาพ ความสามารถในการสื่อความ มนุษยสัมพันธ์ และความเป็นผู้นำตลอดจนการติดตามวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัยเกี่ยวกับงานที่รับผิดชอบอยู่ในลักษณะการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ปรับทัศนคติ เช่น ข้าราชการจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่าการทำราชการเป็นงานมั่นคง ข้าราชการคือคนที่มีพื้นฐานอำนาจรัฐสนับสนุน การมีตำแหน่งหน้าที่เจริญก้าวหน้าในงานเป็นเป้าหมายของอนาคตของข้าราชการ หรือความคิดเรื่องการทำงานในสำนักงานโดยมีเวลากำหนดที่แน่นอน เช่น 8.30-16.30 และมีสถานที่ทำงานที่แน่นอน การเตรียมตัวเพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือการพัฒนาตนเอง อย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีลักษณะเป็นบุคคลที่สมบูรณ์

นักวิชาการได้ให้ความหมายของการพัฒนาตนเองไว้ ดังนี้ การพัฒนาตนเองเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีการพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความรู้ความสามารถดีขึ้น การพัฒนาตนเองเป็นเรื่องที่บุคคลแต่ละคนต้องกระทำด้วยตัวเขาเองโดยบุคคลอื่นมีส่วนช่วยเหลือและสนับสนุนเพียงบางส่วนเพื่อให้ตนเองมีความรู้ความสามารถดีขึ้น การพัฒนาตนเอง หมายถึงการเสริมสร้างความรู้และการปรับปรุงตนเองให้มีความรู้ความเข้าใจ ทักษะความชำนาญและความสามารถในการปฏิบัติงานที่ตนรับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการพัฒนาด้านร่างกายและจิตใจ การพัฒนาตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเรียนด้วยตนเอง และสามารถปรับปรุงตนเองให้เจริญงอกาม ทั้งด้านประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านปัญญาและด้านคุณธรรมด้วย ทำให้การทำงานหรือการดำรงชีวิตอย่างมีความหมาย การศึกษาด้วยตนเองหรือการพัฒนาตนเองเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาทั้งปวง คนที่ต้องการพัฒนาต้องหาทางเรียนรู้และปรับปรุงตนเองให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำรงชีวิตและหน้าที่การงาน การพัฒนาตนเอง หมายถึง ความกระตือรือร้นส่วนบุคคลที่จะเรียนรู้รับสิ่งแปลกใหม่ลองปฏิบัติในสิ่งที่แตกต่าง ขวนขวายไม่หยุดนิ่ง ซึ่งจะช่วยเสริมความเจริญเติบโตตามธรรมชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยตอบสนองโอกาสการพัฒนารูปแบบอื่นๆ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

ปัญหาสุขภาพและการดำรงชีวิตของสังคมในปัจจุบัน

11

ชีวิตที่มีคุณภาพย่อมเป็นชีวิตที่ประสบความสมหวัง รู้จักยับยั้งความต้องการทางร่างกาย และความต้องการทางอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในขอบเขตที่พอดี สามารถใช้ความรู้ สติปัญญาความรู้สึกนึกคิดของตนไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเบียดเบียนหรือให้โทษแก่บุคคลอื่นในขณะเดียวกันบุคคลจะต้องมีการศึกษาสูงมีความขยันอดทนประกอบอาชีพที่สุจริต เป็นพลเมืองดีมีศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจมีระเบียบมีวินัยมีกฎเกณฑ์ทางสังคมแสวงหาความรู้เพิ่มเติมรู้จักใช้ความคิดและสติปัญญาแก้ไขปัญหาสุขภาพและการดำรงชีวิตของตนเองซึ่งถือว่าเป็นคุณลักษณะของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคคลในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งมีแนวทางในการพัฒนา ดังต่อไปนี้

พัฒนากาย เพื่อมุ่งให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และความพิการใด ๆพัฒนาทางอารมณ์ เพื่อมุ่งให้อารมณ์มีความสนุกสนานร่าเริง ไม่มีความเครียดหรือวิตกกังวลต่อการเรียน หรือต่อการปฏิบัติงาน ในหน้าที่รับผิดชอบ มีแต่ความเจริญหู เจริญตา เจริญใจ มองโลกในแง่ดีตลอดไปพัฒนาทางสังคม เพื่อมุ่งให้เป็นคนที่มีเกียรติ ได้รับการยกย่อง เคารพนับถือการยอมรับความรู้สึกเป็นเจ้าของ และความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพัฒนาทางความคิด เพื่อมุ่งให้เป็นคนที่มีความต้องการที่จะรู้และเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการคิดค้นหา
วิธีการป้องกันแก้ไขปัญหาทั้งหลาย ให้ตัวเองได้ดำรงชีพอยู่อย่างสุขสบายพัฒนาทางจิตใจ เพื่อมุ่งให้เป็นคนที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อชุมชน เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางใจ มีความมั่นใจว่าชีวิตนี้มีคุณค่า มีความสุขหรือมีชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต ได้รับความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย พัฒนาทางปัญญา เพื่อมุ่งให้เป็นคนมีความเฉลียวฉลาด สามารถคิดพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุผล ซึ่งปัญญาจะแตกฉาน ในบุคคลได้นั้น จำเป็นจะต้องมีการศึกษาเล่าเรียนมีความสนใจเอาใจใส่ต่อวิชาความรู้ที่ครูอาจารย์อบรมสั่งสอนเพื่อให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและนำไปพัฒนาชีวิตที่มีคุณค่าต่อไปภายภาคหน้า พัฒนาทางวินัย เพื่อมุ่งให้เป็นคนมีระเบียบวินัยในตนเอง สามารถเคารพและปฏิบัติต่อภาระหน้าที่ต่าง ๆที่มีอยู่ให้อยู่ในกรอบของ

การบวชเพื่อศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา

72180

สังคมปัจจุบันนี้เป็นสภาวะที่ค่อนข้างสับสนวุ่นวาย และอยู่ในสภาพที่ยุ่งยาก เพราะบุคคลซึ่งอยู่ร่วมกันนั้นขาดระเบียบวินัย กับบุคคลในสังคมนั้นถูกละเลยเพิกเฉยในการฟื้นฟูจิตใจและการปลูกฝังศีลธรรมบุคคลในสังคมนั้นก็จะมีสภาพจิตใจที่เสื่อมโทรม ด้วยสภาวะแวดล้อมต่างๆจึงส่งผลออกมาในรูปปัญหาของสังคม เช่น ปัญหา อาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหา ครอบครัว ปัญหาเด็กและเยาวชน เหล่านี้เป็นต้น ฉะนั้นการพัฒนาความรู้การปลูกฝังคุณธรรมจึงต้องควบคู่กันไป การบวชเป็นธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง เพราะผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา มีจุดมุ่งหมายที่จะให้บุตรของตนได้เป็นศาสนทายาทสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป และอีกประการหนึ่งเป็นจุดประสงค์ของผู้เป็นบิดามารดาที่ต้องการให้บุตรของตนได้ศึกษาเรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้นำเอาหลักคำสอนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันในการที่จะอยู่ครองเรือนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในภายหน้า

การบวช คือการละเพศของผู้ครองเรือนมาดำรงเพศของผู้ไม่ครองเรือนนับเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวไทยผู้นับถือพระพุทธศาสนา ปรารถนาจะบวชเองหรือให้ลูกหลานของตนได้บวชเป็นพระภิกษุสามเณร ซึ่งถือเป็นศาสนทายาทในการธำรงพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป โดยจุดประสงค์ของการบวชนั้นนอกจากจะให้ผู้บวชครองตนอย่างประหยัดแล้ว ยังต้องการให้ผู้นั้นได้ศึกษาพระธรรมวินัยตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา สามารถปฏิบัติได้ทั้งในระหว่างที่เป็นภิกษุและเมื่อกลับไปครองเรือนแล้ว เพื่อช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญและถาวรต่อไป

พระพุทธศาสนาได้เข้ามาอยู่ในสังคมไทย และได้กลายเป็นมรดกของชนชาติไทย คนไทยได้เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่าสูงสุดของประเทศชาติและสังคมของเราเพราะว่าเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว ก็ให้หลักธรรมคำสอน ทำให้คนประพฤติดีงามเป็นหลักให้แก่สังคม ทำให้สังคมอยู่กันได้ด้วยสันติสุข มีการเบียดเบียนกันน้อยลง ถ้ามีคนดีมากกว่าคนชั่วสังคมนี้ก็อยู่ได้ พระพุทธศาสนาได้ช่วยให้คนมากมายกลายเป็นคนดีขึ้นมา นอกจากนั้นพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรม ตั้งแต่ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การศึกษา ดนตรีและศิลปะต่างๆก็มาจากวัดวาอาราม เป็นต้น

การจัดโครงการอบรมเข้าค่ายพุทธบุตรแก่เด็กและเยาวชน

ปัจจุบันสังคมไทยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เยาวชนส่วนใหญ่ห่างไกลจากเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม ที่เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตที่สำคัญ ซึ่งการปลูกฝังในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมให้กับเยาวชน จึงมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อที่จะช่วยป้องกันปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้นการปลูกฝังคุณธรรมตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ใช้หลักธรรมในการกล่อมเกลาจิตใจ เพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วม เพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนาจิตใจอย่างมี มีเหตุผลในการดำรงชีวิต โดยจะเชิญพระธรรมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆมาให้ความรู้ หากเด็กและเยาวชนขาดสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะทำให้เกิดการหลงผิด และอาจนำไปสู่การกระทำผิดต่างๆได้ ซึ่งทุกศาสนามีกระบวนการ มีหลักธรรมในการที่จะนำมาใช้อบรมสั่งสอนเด็กเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องมีวิธีการที่หลากหลายที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าใจ

เยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติในอนาคต เยาวชนที่มีคุณภาพนอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสติปัญญาดีแล้ว ยังต้องมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย พระพุทธศาสนาถือเป็นแหล่งคำสอนและระบบจริยธรรมของสังคมไทย เด็กและเยาวชนไทยทุกคนควรได้รับการปลูกฝังหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตและการทำงานในหน้าที่ เพื่อตนเอง ครอบครัว และสังคมโดยรวม ได้อย่างกลมกลืนภายใต้สภาพแวดล้อมในสังคม และวัฒนธรรมแบบพุทธ ซึ่งการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมตามแนวพระพุทธศาสนาแก่เด็กและเยาวชน เป็นหน้าที่ของทุกสถาบันหลักในสังคม เริ่มตั้งแต่บ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนถึงชุมชนที่อยู่อาศัย

โครงการอบรมเข้าค่ายพุทธบุตร เป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาเยาวชนโดยการพัฒนาจิตและปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรม และศีลธรรม ตามหลักพุทธศาสนาอันเป็นแนวทางการประพฤติตนที่ดี ให้มีทักษะในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เด็กและเยาวชนที่นำธรรมะ นำหลักคำสอนที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน คือ การพัฒนากาย โดยการแสดงออกทางกิริยามารยาทชาวพุทธมีพฤติกรรมที่ดีงามเหมาะสม การพัฒนาศีลโดยการอยู่ร่วมกับครอบครัวและบุคคลในสังคม ด้วยความเกื้อกูลและประกอบอาชีพที่สุจริต การพัฒนาจิตให้เป็นจิตที่สมบูรณ์ทั้งคุณภาพจิต พลังจิตและสุขภาพจิต และสุดท้ายการพัฒนาปัญญาให้เกิดปัญญาในการรู้จริง รู้เท่าทันทางเจริญทางเสื่อมปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รู้วิธีการป้องกัน รู้วิธีแก้ไขปัญหา สร้างภูมิต้านทานให้กับตนเองด้วยคุณธรรม ให้เป็นผู้มีชีวิตอยู่อย่างรู้เท่าทันโลก นำพาชีวิตสู่ความสำเร็จ  เพื่อเกื้อกูลแก่ตนเองและประเทศชาติในที่สุด

กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิดนอกห้องเรียน

การคิดเป็นกระบวนการทำงานของสมอง ที่เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดขึ้น อันเป็นผลจากประสบการณ์เดิม สิ่งเร้า และสภาพแวดล้อมที่เข้ามากระทบ ส่งผลให้เกิดความคิดในการที่จะแก้ไข ปรับตัวเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา หรือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งสามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้ การคิดเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมเป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่อง และเป็นขั้นตอน การคิดมีหลายลักษณะซึ่งมีจุดมุ่งหมายและกระบวนการในการคิดแตกต่างกันซึ่งคนทุกคนสามารถฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาได้ ดังนั้นมนุษย์สามารถเรียนรู้ในการพัฒนาการคิดได้อย่างหลากหลายรูปแบบ

การจัดค่ายการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่จัดขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งกิจกรรมที่จัดจะเน้นให้ผู้เข้าค่ายได้เผชิญปัญหา ฝึกการแก้ปัญหา ร่วมคิดร่วมทำ โดยใช้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสื่อเพื่อสร้างองค์ความรู้และความคิดรวบยอด รวมทั้งให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น กระบวนการสังเกต ทดลอง เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลนอกจากนั้น กิจกรรมในค่ายยังเป็นกิจกรรมที่ฝึกการอยู่ร่วมกัน มีการทำงานเป็นทีมเป็นกลุ่ม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฝึกความรับผิดชอบต่อตนเองและหมู่คณะ

โครงการค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิดทุกรายการอยู่ในระดับมาก โดยความรู้ของคณะครูและวิทยากรมีความเหมาะสมมากที่สุดรองลงมาคือ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินโครงการ จำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการ การจัดค่ายวิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆของผู้เรียนได้ เช่น ทักษะกระบวนการคิด ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งควรมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายและต่อเนื่อง จะส่งผลให้ผู้เรียนที่พัฒนาทักษะต่าง ๆได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ข้อมูลต่าง ๆได้

กิจกรรมค่ายเด็กและเยาวชนเสริมสร้างภาวะผู้นำ ส่งเสริมให้เยาวชนมีความกล้าคิด

การเข้าค่าย ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการเรียนรู้ที่เมื่อมีโอกาส ผู้ใหญ่ควรให้การสนับสนุนส่งเสริม เพื่อเปิดประตูการเรียนรู้บานใหม่ให้กับเด็ก ๆ ของเรา หัวใจของการเรียนรู้ที่สำคัญคือ เด็กต้องได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน และมีส่วนร่วม มิใช่เน้นแต่เนื้อหา ซึ่งหากเปรียบแล้วคงไม่ต่างกับยาขมหม้อใหญ่ ที่แม้จะรู้ว่ามีคุณประโยชน์ปานใด ก็ยากที่จะทำให้เด็กดื่มรับได้โดยง่าย กับสภาพเหตุการณ์ทางสังคมไทยในปัจจุบัน การหาโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เข้าค่ายในเชิงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือค่ายวัฒนธรรมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเพิ่มประสบการณ์การรับรู้ และสร้างความเข้าใจตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งอาจนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อปรับตัว ป้องกันหรือแก้ไขเพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ สิ่งใหม่ขึ้นได้ในสังคมอนาคต

ค่ายเยาวชนเป็นค่ายมุ่งหวังให้เด็กรู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีความสุขและ สนุก เพลิดเพลินจากสถานที่แหล่งการเรียนรู้ต่างๆที่อยู่นอกห้องเรียนดัง นั้นใน ช่วงเวลาปิดเทอมที่มุ่งเน้นการพัฒนา ความคิดจิตใจ อารมณ์ ของเยาวชน โดยเน้นการพัฒนาความคิดที่เป็นระบบ การแสวงหาความรู้ การสร้างสรรค์ และความคิดริเริ่ม การแสดงออก การใช้เหตุและผล การทำงานเป็นทีม และการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขส่ง เสริมการปรับตัว อยู่ร่วมกับผู้อื่นและพัฒนาเยาวชนให้อยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้อย่างมีความสุข รู้เท่าทัน ความเปลี่ยนแปลงของโลกการเข้าค่ายเป็น การเรียนรู้รูปแบบหนึ่งเมื่อมีโอกาสผู้ใหญ่ควรให้การสนับสนุนส่งเสริม เพื่อให้เปิดประตู การเรียนรู้บานใหม่ให้กับเด็กๆ หัวใจของการเรียนรู้ที่สำคัญคือเด็ก ต้องได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน และมีส่วนร่วม มิใช่เน้นแต่เนื้อหา กับสภาพเหตุการณ์ทางสังคมไทย ในปัจจุบัน การหาโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้าค่ายเชิงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือค่ายวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสบการณ์การรับรู้ และสร้างความเข้าใจตามสภาพความเป็นจริงซึ่งอาจจะนำไปสู่การเรียนรู้ เพื่อ ปรับตัวป้องกัน แก้ไข เพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ สิ่งใหม่ขึ้นได้ในสังคมอนาคต

การเข้าค่ายนั้นเป็นผลดีต่อเด็กและเยาวชนมาก เพราะว่าเป็นวัยแห่งการเรียนรู้สนใจ สิ่งรอบตัวต่างๆ มากมายก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งหากมีการส่งเสริมในทางที่ดี ก็จะเป็นแนวทางให้พวกเขาได้รู้จัก พัฒนาตนเองเพื่อการเรียนรู้ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติต่อ ไป ในอนาคต

การเข้าค่ายช่วยส่งเสริมศักยภาพการคิดของเด็ก

การจัดกระบวนการเรียนรู้ไว้ว่า จะต้องเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง สามารถนำความรู้ในวิชาต่างๆไปบูรณาการใช้ในการดำรงชีวิตได้ สามารถคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดอย่างสร้างสรรค์ มีความสามารถในการจัดการและแก้ไขปัญหา มีความเป็นผู้นำ ยอมรับตนเอง อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขและทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้

กิจกรรมในค่ายคณิตศาสตร์ เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดคุณลักษณะตามข้อกำหนดข้างต้นได้ หากผู้จัดสามารถวางแผนและกำหนดกิจกรรมวิชาการและนันทนาการให้นักเรียนได้ปฏิบัติอย่างเหมาะสม

กิจกรรมวิชาการ ต้องคัดสรรให้เหมาะสมกับผู้เข้าค่าย ถ้าเป็นเด็กเก่ง มักนิยมนำเนื้อหาสูงๆมาเรียนทั้งวัน เช่น ค่ายคณิตศาสตร์โอลิมปิก แต่ถ้าเป็นเด็กมัธยมทั่วไป มีผสมระหว่างคนเก่ง คนอ่อน หรือต่างชั้นก็ควรเน้นทักษะการแก้ปัญหาเป็นสำคัญ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น
– แรลลี่สำรวจค่าย โดยนำปัญหามาวางไว้ตามจุดต่างๆ ให้ผู้เล่นไขปริศนา เน้นการประยุกต์ความรู้
– ระดมความคิด เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มได้อภิปรายแสดงความเห็น ทำงานร่วมกันจนได้ข้อสรุป
– ผจญภัยคณิตศาสตร์ เน้นคิดแก้ปัญหา ตื่นเต้น ท้าทาย เช่น ค่ายกลที่ต้องใช้ความรู้ทางทฤษฎีกราฟ
– เสริมศักยภาพทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้ผู้เข้าค่ายได้ทดสอบทักษะทางคณิตศาสตร์และการคิดแก้ปัญหา
– คณิตศาสตร์กับธรรมชาติ โดยการเดินทางนอกสถานที่แล้วสอดแทรกการนำคณิตศาสตร์ไปใช้ เช่น การวัดความสูงของภูเขา ปริมาณนกในบึง ปริมาณปลาในสระ เป็นต้น
– เล่าประวัตินักคณิตศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่นักเรียนได้เรียน เช่น ปีทาโกรัส ยุคลิด ฯลฯ
– การบรรยายจากวิทยากรรับเชิญ ตามหัวข้อที่เหมาะสมเช่น การสอบเข้ามหาวิทยาลัย การทำโครงงานฯ

กิจกรรมนันทนาการ เป็นกิจกรรมที่แทรกคั่นระหว่างกิจกรรมวิชาการเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งนักเรียนจะสนุกสนานได้เสียงหัวเราะ เช่น เพลงคณิตศาสตร์ เกมคณิตศาสตร์ ละครคณิตปริศนา กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ถ้าทำถูกต้องทันเวลา ก็ได้รับรางวัล ถ้าทำไม่ถูกต้องหรือช้ากว่ากำหนด ก็จะถูกลงโทษโดยการแสดงท่าทางต่างๆ เช่น ท่าไก่ย่าง ท่าดักแด้ ฯ

นักเรียนที่เข้าค่ายคณิตศาสตร์ จะได้รับรู้และเรียนรู้ประสบการณ์ต่อไปนี้
1. เพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจและทักษะการคิดทางคณิตศาสตร์
2. เพิ่มพูนศักยภาพทางคณิตศาสตร์ ได้แก่ การสำรวจ ตั้งข้อคาดเดา การสืบเสาะหาเหตุผล ใช้หลายยุทธวิธี ในการแก้ปัญหา การสื่อสารและการเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตจริงกับศาสตร์สาขาอื่นๆ
3. ส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาตามขั้นตอนของการแก้ปัญหา (เข้าใจ วางแผน ลงมือ ตรวจสอบ)
4. ฝึกการอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งต้องเป็นคนมีวินัย อดทน เสียสละ เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีทีวามสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์

การจัดค่ายคณิตศาสตร์ เป็นงานที่มีคุณค่า สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับศิษย์ หลายท่านอาจลังเลใจในการจัด ผมขอแนะนำให้ลองจัดสักครั้งแล้วท่านจะมีความรู้สึกที่ดี จากการประเมินการจัดค่ายคณิตศาสตร์ ทุกครั้งพบว่าเด็กที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์ หลังเข้าค่ายแล้วจะรู้สึกรักคณิตศาสตร์และครูคณิตศาสตร์มากขึ้น

ความสำคัญของแคมป์เข้าค่ายเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการศึกษา และคุณภาพชีวิต

การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในกาพัฒนาเด็กให้มีความรู้และทักษะ การส่งเสริมการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็กให้มีทักษะการเรียนรู้ บรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพมาตรฐานการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ คือ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้ทักษะชีวิต และการใช้เทคโนโลยี และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่หลักสูตรกำหนด โดยส่งเสริมให้นักเรียนมีพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา เน้นการฝึกปฏิบัติจริงตอบสนองความสามารถ ความถนัดและความสนใจ ของผู้เรียน มีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติ การสร้างองค์ความรู้ การสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งการเรียนรู้ทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข มีวิธีการที่หลากหลายวิธีการหนึ่ง ที่สามารถสนองตอบการส่งเสริมนักเรียนให้มีพัฒนาการดังกล่าว คือ “ค่าย”

“ค่าย” เป็นกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน รูปแบบหนึ่งที่รู้จักกันมานาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงป้องกันแก้ไขปัญหา ตัวอย่างของค่ายเช่น ค่ายลูกเสือ ค่ายยุวกาชาด ค่ายบำเพ็ญประโยชน์ ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายคณิตศาสตร์ ค่ายเยาวชน เป็นต้น ค่ายมีลักษณะเฉพาะคือ มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน มีผู้นำหรือพี่เลี้ยงค่ายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ใช้ระบบกลุ่มในการพัฒนา มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมปลอดภัย มีกิจกรรมหลักเป็นหัวใจของค่าย ต้องมีการคัดเลือกกิจกรรมและนำไปใช้อย่างมีทักษะและเทคนิค มีกระบวนการบริหารค่าย โดยทั่วไปประกอบด้วยกิจกรรมใน 5 ลักษระ ได้แก่ การชีวิตร่วมกันเป็นคณะหรือเป็นกลุ่ม การนันทนาการ การศึกษา การใช้ชีวิจกลางแจ้งหรือที่เหมาะสมอื่นๆ การปรับตัวทางสังคม และการบริหารงานค่าย

ค่ายเอื้อต่อการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ ที่แตกต่างจากการเรียนการสอนในห้องเรียน กล่าวคือ การเปลี่ยนแหล่งของความรู้ เปลี่ยนบริบทการเรียนรู้ จากการเรียนรู้จากตำราเรียนและครู สู่การเรียนรู้จากผู้รู้อื่นๆ และจากสถานการณ์จริง และที่สำคัญคือ ได้ลงมือปฏิบัติการด้วยตนเองจากสถานที่ในห้องสี่เหลี่ยมสู่โลกกว้างที่ไม่มีที่สิ้นสุด มีกระบวนการคิด วิเคราะห์ และการเชื่อมโยงมากขึ้น ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เด็กเกิดความกระหายต่อการเรียนรู้และรับรู้ได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนมีใจจดจ่อและตื่นตัวต่อกระบวนการเรียนรู้นั้นๆ อันส่งผลให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้มากิ่งขึ้น การเข้าค่ายเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะได้รับประสบการณ์ตรงจากการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ การสร้างประสบการณ์ใหม่ การใช้ประสบการณ์เชิงบวกในการเรียนรู้ ทำให้เด็กเกิดความประทับใจ และมีแรงบันดาลใจ เช่น การได้ค้นพบความสามารถของตนเอง มีโอกาสแสดงออก เสริมความใฝ่ฝันใน “สิ่งที่ดีกว่า” ที่เป็นจริงได้ ส่งผลให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ความคิด และพฤติกรรม เกิดความนับถือตนเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงจาก “ภายใน” ในระดับบุคคล

การศึกษาตลอดชีวิตช่วยสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่มนุษย์

การมุ่งพัฒนาชีวิตด้วยกระบวนการศึกษาเพื่อหวังสร้างโอกาสหางานทำง่าย มีรายได้มาใช้จ่ายบำรุงชีวิตให้อยู่ดีกินดี มีความสะดวกสบายสามารถยกระดับชีวิตได้สูงขึ้นในสังคมว่าเป็นชีวิตที่มีคุณภาพนั้น คุณภาพชีวิตในลักษณะนี้อาจไม่ยั่งยืน มั่นคงพอ ปัญหาอาจก่อตัวขึ้นมาช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตได้หากท่าทีของจิตใจซึ่งเป็นตัวบงการชีวิต ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้มีท่าทีในทางก่อที่มั่นคงและสมดุล เพราะความสำเร็จทุกอย่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง จึงต้องสร้างพื้นฐานของจิตใจให้มั่นคงก่อน

การศึกษานั้นถือได้ว่าเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เราสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ นอกจากนี้แล้วการศึกษาและการเรียนรู้นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน เราสามารถเรียนรู้และศึกษาได้ในทุกที่ อย่างไรก็ตามคุณภาพชีวิตกับการศึกษาก็ขึ้นอยู่กับของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน หากเราสามารถนำความรู้จากการศึกษา มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ก็ย่อมเกิดผลดีกับตัวของเราเอง การศึกษาหรือกระบวนการการเรียนรู้สามารถเกิดได้ในทุกวัย สามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสาขากิจกรรมบำบัดได้ เช่นเราสามารถประเมินว่ากิจกรรมใดเหมาะกับผู้รับบริการใด ระดับความรู้ความเข้าใจในแต่ละวัย ระดับของการศึกษาที่แตกต่างกัน ก็ทำให้เกิดการรู้และเข้าใจที่ต่างกันด้วยเช่นกัน

การศึกษาตลอดชีวิต

เป็นรูปแบบของการเรียนรู้ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของมนุษย์ทุกคน นับตั้งแต่วัยแรกเกิดจนกระทั่งตาย การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ควบคู่กับสังคมมนุษย์ เราสามารถเลือกที่จะศึกษาเรียนรู้ได้ในช่วงเวลาต่างๆของชีวิตตามความต้องการและเหมาะสม การศึกษาเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทั้งในครอบครัว วัด ชุมชน สถาบันการศึกษา สถานประกอบการ และแหล่งอื่นๆเราจะเห็นได้ว่าการศึกษาตลอดชีวิตกลายเป็นความจำเป็นของทุกคนในยุคปัจจุบันเพื่อให้สามารถก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สำคัญ

อีกด้านหนึ่งที่จะต้องรีบพัฒนาไปพร้อมกันให้สมดุลกับด้านอื่นๆ คือด้ามนุษยสัมพันธ์เพราะว่าการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมจำเป็นต้องมีการคบหาเกี่ยวพันระหว่างบุคคลรอบด้าน พฤติกรรมที่เราแสดงออกย่อมไปกระทบอารมณ์ความรู้สึกระหว่างบุคคลแล้วสะท้อนกลับมาเกี่ยวพันตัวเราด้วย ผลของการสะท้อนกลับมามีอิทธิพลต่อการพัฒนาชีวิตเช่นกัน ถ้าสะท้อนกลับมาในทางบวกก็จะช่วยเสริมสร้างกำลังใจและมีส่วนช่วยผลักดันการพัฒนาชีวิตได้สะดวกขึ้น  หากสะท้อนกลับในทางลบ ความเกี่ยวพันนั้นจะกลายเป็นตัวหน่วงเหนี่ยวการพัฒนาตนคล้ายกับตัวเองหน่วงเหนี่ยวตัวเอง ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาชีวิตในด้านนี้ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น