ความสำคัญของแคมป์เข้าค่ายเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการศึกษา และคุณภาพชีวิต

การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในกาพัฒนาเด็กให้มีความรู้และทักษะ การส่งเสริมการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็กให้มีทักษะการเรียนรู้ บรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพมาตรฐานการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ คือ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้ทักษะชีวิต และการใช้เทคโนโลยี และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่หลักสูตรกำหนด โดยส่งเสริมให้นักเรียนมีพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา เน้นการฝึกปฏิบัติจริงตอบสนองความสามารถ ความถนัดและความสนใจ ของผู้เรียน มีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติ การสร้างองค์ความรู้ การสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งการเรียนรู้ทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข มีวิธีการที่หลากหลายวิธีการหนึ่ง ที่สามารถสนองตอบการส่งเสริมนักเรียนให้มีพัฒนาการดังกล่าว คือ “ค่าย”

“ค่าย” เป็นกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน รูปแบบหนึ่งที่รู้จักกันมานาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงป้องกันแก้ไขปัญหา ตัวอย่างของค่ายเช่น ค่ายลูกเสือ ค่ายยุวกาชาด ค่ายบำเพ็ญประโยชน์ ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายคณิตศาสตร์ ค่ายเยาวชน เป็นต้น ค่ายมีลักษณะเฉพาะคือ มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน มีผู้นำหรือพี่เลี้ยงค่ายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ใช้ระบบกลุ่มในการพัฒนา มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมปลอดภัย มีกิจกรรมหลักเป็นหัวใจของค่าย ต้องมีการคัดเลือกกิจกรรมและนำไปใช้อย่างมีทักษะและเทคนิค มีกระบวนการบริหารค่าย โดยทั่วไปประกอบด้วยกิจกรรมใน 5 ลักษระ ได้แก่ การชีวิตร่วมกันเป็นคณะหรือเป็นกลุ่ม การนันทนาการ การศึกษา การใช้ชีวิจกลางแจ้งหรือที่เหมาะสมอื่นๆ การปรับตัวทางสังคม และการบริหารงานค่าย

ค่ายเอื้อต่อการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ ที่แตกต่างจากการเรียนการสอนในห้องเรียน กล่าวคือ การเปลี่ยนแหล่งของความรู้ เปลี่ยนบริบทการเรียนรู้ จากการเรียนรู้จากตำราเรียนและครู สู่การเรียนรู้จากผู้รู้อื่นๆ และจากสถานการณ์จริง และที่สำคัญคือ ได้ลงมือปฏิบัติการด้วยตนเองจากสถานที่ในห้องสี่เหลี่ยมสู่โลกกว้างที่ไม่มีที่สิ้นสุด มีกระบวนการคิด วิเคราะห์ และการเชื่อมโยงมากขึ้น ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เด็กเกิดความกระหายต่อการเรียนรู้และรับรู้ได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนมีใจจดจ่อและตื่นตัวต่อกระบวนการเรียนรู้นั้นๆ อันส่งผลให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้มากิ่งขึ้น การเข้าค่ายเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะได้รับประสบการณ์ตรงจากการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ การสร้างประสบการณ์ใหม่ การใช้ประสบการณ์เชิงบวกในการเรียนรู้ ทำให้เด็กเกิดความประทับใจ และมีแรงบันดาลใจ เช่น การได้ค้นพบความสามารถของตนเอง มีโอกาสแสดงออก เสริมความใฝ่ฝันใน “สิ่งที่ดีกว่า” ที่เป็นจริงได้ ส่งผลให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ความคิด และพฤติกรรม เกิดความนับถือตนเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงจาก “ภายใน” ในระดับบุคคล