การพัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตจะต้องมีการพัฒนาในมิติต่างๆ

3ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเหนือความคาดหมาย จนทำให้มนุษย์เราต้องมาปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตให้สอดคล้อง และรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ จะต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันภายใต้ความแตกต่างกันทั้ง อายุ, รายได้, ระดับการศึกษา, รสนิยมและเป้าหมายในการดำเนินชีวิตโดยบุคคลเหล่านี้ ย่อมมีความต้องการ มีอำนาจในการซื้อ และความพึงพอใจที่หลากหลาย ซึ่งพื้นฐานในความต้องการและพฤติกรรมของมนุษย์นั้นจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในเรื่องของ ค่านิยม, การรับรู้, ความพอใจ และพฤติกรรมผ่านสถาบันครอบครัว, เพื่อน และสังคม หรือบุคคลอื่นๆ ที่มีอิทธิพล โดยมีวัฒนธรรมแทรกซึมอยู่ในการดำเนินชีวิตของบุคคลในแต่ละวัน

วัฒนธรรมของบุคคลจะเป็นตัวพิจารณาถึงการบริโภคและการใช้บริการต่างๆ ทำให้มนุษย์ต้องศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อโลก-ทันคน โดยเริ่มจากการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างความสามารถของตัวเองให้มีมากขึ้นมนุษย์เรามีความต้องการที่จะให้ตนเองเจริญก้าวหน้า ดังนั้น  ทุกคนจึงต้องพยายามพัฒนาตนเองเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมลภาวะที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการดำเนินชีวิต การเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม ทำให้มนุษย์มีรสนิยมสูงขึ้น ปรารถนาสิ่งที่ดีขึ้นหรือดีที่สุด มีความสามารถที่จะทำตัวเองให้เข้ากับบุคคลอื่นให้ได้และเป็นที่รักใคร่ชอบพอแก่ทุก ๆ คน การพัฒนาตนเอง เป็นทั้งการพัฒนาความรู้, ทักษะ และพฤติกรรม ไปสู่การพัฒนาทัศนคติ แรงจูงใจ และอุปนิสัยเพื่อค้นหาตนเอง เพิ่มทักษะ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การพัฒนาตนเองอาจเป็นการพัฒนาที่จิตใจของตนเอง หรือพัฒนาไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ทำให้มีคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามที่ใจปรารถนา

การพัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต จะต้องมีการพัฒนาในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านร่างกาย ได้แก่ การให้ความสำคัญกับสุขภาพ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอบริโภคอาหารอย่างถูกสุขลักษณะเป็นการการพัฒนาให้ร่างกายมีความแข็งแรง สมส่วนและไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านอารมณ์ ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาพจิตใจที่ดีรู้จักควบคุมอารมณ์โดยการพัฒนาทางด้านจิตใจด้วยการให้ทาน การทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ การเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการ การฝึกสมาธิ การผ่อนคลายด้วยการฟังเพลง การพักผ่อน การท่องเที่ยว เป็นต้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านสังคม เป็นการสร้างการยอมรับและยกย่องจากสังคม ได้แก่ การเข้าร่วมกิจกรรมกับสังคม หรือหน่วยงานต่างๆ ใช้เวลาว่างบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชุมชนให้ความร่วมมือกับสังคมในด้านต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตนโดยยึดหลักของกฎหมายและคุณธรรม จริยธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านสติปัญญา เป็นการเพิ่มทักษะทางด้านความรู้ให้กับตนเอง ได้แก่ การอ่านหนังสื่อ การเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ด้านต่างๆ การศึกษาข้อมูลสารสนเทศจากสื่อต่างๆ การสังเกตและติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ฯลฯ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลจะต้องเริ่มต้นด้วยตัวเองเปิดใจยอมรับกับการพัฒนาตนเองพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องมีความพร้อมสำหรับการศึกษาเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงแล้วจะทำให้บุคคลนั้นสามารถใช้ชีวิตร่วมกันกับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างมีความสุข